หน้ากาก
หน้ากาก
การให้ออกซิเจน (Oxygen Therapy)
การให้ออกซิเจน (Oxygen Therapy) คือ การเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด กรณีที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมีภาวะขาดออกซิเจน เช่น
ผู้ป่วยที่มีระบบการหายใจบกพร่อง ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยบทความนี้จะเจาะจงเกี่ยวกับข้อมูลหน้ากากให้ออกซิเจนชนิดต่างๆ
หน้ากากให้ออกซิเจนคืออะไร ?
Oxygen Mask หรือ หน้ากากให้ออกซิเจน เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับให้ออกซิเจนเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศที่หายใจเข้าไป ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีระบบการหายใจบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ผู้ป่วยที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมีภาวะขาดออกซิเจน เช่น ผู้ป่วยโรคปอดบวม โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมถึงผู้ป่วยที่มีอากการโรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness) ที่เกิดจากการดำน้ำ โดยหน้ากากให้ออกซิเจนจำเป็นต้องใช้ร่วมกับถังออกซิเจนหรือเครื่องผลิตออกซิเจนในการรักษาควบคู่กัน
หน้ากากให้ออกซิเจนมีลักษณะแบบใดบ้าง ?
1. หน้ากากให้ออกซิเจน Oxygen Mask
เป็นหน้ากากให้ออกซิเจนลักษะใส ใช้สำหรับครอบปากและจมูก มีสายยางยืดไว้สำหรับคล้องศรีษะและคาง ด้านข้างของหน้ากากมีรูระบายอากาศเมื่อหายใจเข้าและหายใจออก เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการความเข้มข้นของออกซิเจนในระดับปานกลาง ควรใช้ควบคู่กับอุปกรณ์ทำความชื้นแบบ Humidifier
2. หน้ากากให้ออกซิเจนแบบมีถุงลม หรือ Oxygen mask with bag
มีลักษณะคล้ายกับหน้ากากให้ออกซิเจน (Oxygen Mask) แต่จะมีถุงเก็บอากาศ (reservoir bag) เพิ่มเข้ามาเพื่อเก็บสำรองออกซิเจนไว้ในถุงเพื่อเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนและยังช่วยให้สามารถสังเกตจังหวะการหายใจของผู้ป่วยได้ จึงเหมาะสำหรับการให้ออกซิเจนในปริมาณมากๆ ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับออกซิเจนในระดับสูง เพราะตัวหน้ากากมี Non return valve นั้นจะช่วยเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจน
- Valve ที่อยู่ระหว่างหน้ากากกับถุงเก็บอากาศ จะเปิดเฉพาะช่วงหายใจเข้าและปิดช่วงหายใจออก ทำให้ลมหายใจออกไม่เข้าไปผสมกับออกซิเจนในถุงเก็บอากาศ
- Valve ที่อยู่ด้านข้างของหน้ากาก จะเปิดเมื่อหายใจออกและปิดเมื่อหายใจเข้า เพื่อกันไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้ามาในหน้ากาก
ควรใช้ควบคู่กับอุปกรณ์ทำความชื้นแบบ Humidifier
3. สายให้ออกซิเจนทางจมูก Nasal Cannula
เป็นอุปกรณ์ให้ออกซิเจนแบบท่อส่งออกซิเจนขนาดเล็ก โดยนำส่วนท่อคล้องไว้บริเวณจมูก ใช้งานง่ายและไม่ระคายเคืองผู้ป่วยมาก ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมทั่วไป พูดคุย ดื่มน้ำและ รับประทานอาหารได้ตามปกติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องการออกซิเจนในปริมาณมากหรือที่มีอาการเหนื่อยหอบเล็กน้อย ควรใช้ควบคู่กับอุปกรณ์ทำความชื้นแบบ Humidifier
4.หน้ากากพ่นยา (Nebulizer Mask)
เป็นหน้ากากที่ใช้สำหรับพ่นยาให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด หอบ หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สามารถใช้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่ ใช้ได้ทั้งผู้ป่วยอาการรุนแรงในไอซียูจนกระทั่งถึงการรักษาที่บ้าน หน้ากากพ่นยานี้จะประกอบเข้ากับปั๊มพ่นยาหรืออุปกรณ์ให้ออกซิเจนโดยไม่ผ่านขวดให้ความชื้น
หน้ากากให้ออกซิเจนมีหลายลักษณะ ซึ่งแต่ละลักษณะก็มีวิธีใช้แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอาการและสถานการณ์ของผู้ป่วยตามการรักษา
02 กันยายน 2567
ผู้ชม 265 ครั้ง